Audio Post Production (ฉบับเร่งรัด) Part 1

“เสียง” จัดว่าเป็นอีกหนึ่งหมวดที่อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการ Post Production ถ้าว่ากันตามตำราเค้าก็มักจะบอกกันว่า ”ขั้นตอนการทำเสียงก็คือส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ภาพนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ฯลฯ” แต่ในบทความย่อยๆชิ้นนี้ผมขอข้ามทฤษฎีตามตำราที่ออกจะน่าเบื่อเล็กๆ แล้วลองกระโดดไปดูกันในสถานการณ์จริงเลยดีกว่า ว่าขั้นตอนการทำเสียงใน Post Production หรือที่เรามักเรียกตามฝรั่งว่า Audio Post Production เค้ามีรายละเอียดอะไรกันบ้างครับ

ไม่ว่าจะเป็นละคร, หนังโฆษณา, หนังสั้น, คลิปไวรัล หรือภาพยนตร์จอเงิน ฯลฯ กว่าจะเสร็จสิ้นเป็นรูปร่างก็ต้องผ่านขั้นตอน Audio Post Production กันทั้งนั้นครับ แต่รายละเอียดจะมากจะน้อยก็ว่ากันไปตามสเกลของงาน ฉะนั้นก่อนอื่นเราลองมาดูรายละเอียดของงาน Audio Post Production ประเภทต่างๆว่ามีอะไรกันบ้างนะครับ

1.TV : ขั้นตอนการทำเสียงของงานทีวีก็จะเน้นอยู่ที่รายการต่างๆ รวมถึงละครหรือซีรี่ย์ประจำช่องนั้นๆด้วยครับ ลักษณะของแต่ละโปรแกรมหรือรายการก็จะมีความยาวไม่เท่ากัน อาจจะเป็นแค่จิงเกิ้ลสั้นๆ หรือเป็นรายการยาวหนึ่งชั่วโมงก็มีเช่นกัน

2.Commercial : งานหนังโฆษณาจะว่าเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อทีวีก็ว่าได้ครับ แต่เพราะงานโฆษณาชิ้นนึงอาจจะนำไปใช้ในสื่อได้หลากหลายก็เลยแยกหัวข้อออกมาซะเลยดีกว่า ปกติงานโฆษณาจะมีความยาวไม่มากนัก ส่วนใหญ่มักจะเห็นกันที่ 15 วินาที, 30 วินาที หรือ 60 วินาที แต่จะสั้นหรือยาวกว่านี้ก็มีให้เห็นเช่นกันครับ

ยิ่งปัจจุบันเรานำหนังโฆษณาไปใช้กันในสื่อโซเชียลมีเดียทั้งหลายมากขึ้น หนังโฆษณาสั้นๆประมาณ 10 วินาที หรือ 6 วินาทีก็ทำกันเป็นเรื่องปกติไปแล้วครับ

3.Film : หัวข้อนี้จะว่ากันที่หนังโรงหรือภาพยนตร์กันเป็นหลักครับ ความยาวก็หนึ่งชั่วโมงอัพกันทั้งนั้น ปัจจุบันเรามีช่องทางการดูหนังและพวกออริจินัลซีรีย์อย่างพวก Netflix หรือ HBO เพิ่มเข้ามาอีก ก็ให้นับอยู่ในหมวดนี้เช่นกันครับ

4.Games : อีกหนึ่งความบันเทิงที่ทุกวันนี้มีการลงทุนในเรื่องเสียงกันอย่างมหาศาล ยิ่งเป็นเกมส์แพลทฟอร์มใหญ่ๆ ขั้นตอนการทำเสียงไม่ต่างจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดเลยทีเดียวครับ

5.Corporate : บางคนก็มักจะเรียกกันว่าพรีเซนท์เทชั่น (Presentation) อันนี้จะครอบคลุมงานหลายอย่าง เช่นหนังโปรโมทองค์กร, งาน CSR, หนัง Infographic หรือกระทั่งพรีเซนท์เทชั่นงานแต่งงาน งานประเภทนี้มักจะมีโปรดัคชั่นที่เล็กกว่าพวกที่กล่าวไปตอนต้น แต่ก็จำเป็นต้องใส่ใจในเรื่องของเสียงประกอบไม่ต่างกับงานประเภทอื่นๆครับ

ขั้นตอนการทำงาน

ก่อนที่จะมาถึงส่วนงาน Audio Post Production ของพวกเรา ลองทำความเข้าใจระบบของงาน Production กันแบบคร่าวๆ ก่อนนะครับ จะได้รู้ว่าเค้าฝ่าด่าน 18 อรหันต์กันมายังไงบ้าง

1.Pre Production : ตามชื่อครับ ขั้นตอนนี้เป็นการรวมหัวประชุมกันของทีม Production House, Agency และลูกค้าเจ้าของเงิน ซึ่งจะมาคุยกันก่อนว่าอยากให้งานออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ทีมงานสตูดิโออย่างเราๆจะไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ครับ แต่ก็มีบางงานที่เสียงมีความสำคัญกับหนังมาก ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับเทคนิคในการถ่ายทำด้วย ก็จำเป็นจะต้องเรียกทีม Soud Designer หรือ Composer เข้ามาคุยเพื่อกำหนดทิศทางด้านเสียงกันก่อน

2.Production : ก็คือขั้นตอนการถ่ายทำหนังนั่นเอง ส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับพวกเราชัวร์ๆ เพราะเป็นเรื่องของงานภาพล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้อง, แสง, นักแสดง ฯลฯ มีงาน Audio Recording อยู่ในส่วนนี้เหมือนกัน แต่เพราะพวกเราเป็นสายสตูดิโอไม่ค่อยถนัดงานประเภทนี้ ฉะนั้นอันนี้ขอไม่ลงรายละเอียดละกันนะครับ อิอิ

3.Video Editing : งานตัดต่อภาพ เป็นการนำฟุตเทจที่ถ่ายทำเสร็จแล้วมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันจนออกมาเป็นหนังหนึ่งเรื่อง ซึ่งเมื่อตัดต่อภาพเสร็จแล้วทางทีมงานอีดิทเตอร์ (Editor) เค้าก็จะส่งไฟล์วีดีโอมาให้พวกเราได้เริ่มงานครับ

เมื่อเตรียมงานและถ่ายทำหนังจนเรียบร้อย ผ่านกระบวนการตัดต่อจนออกมาเป็นผลงานที่ทุกฝ่ายพอใจ เราก็จะมาเริ่มกระบวนการทำเสียงหรือ Audio Post Production กันล่ะครับทีนี้

4.Audio Prepare Session : นี่คือขั้นตอนการเตรียมงานของ Audio Post Production ครับ นอกจากภาพที่ตัดต่อมาเรียบร้อยแล้ว เราจะต้องได้ไฟล์เสียงที่อยู่ในหนังมาด้วยนะ ส่วนใหญ่ทางอีดิทเตอร์จะส่งไฟล์เสียงมาให้เราในรูปแบบของไฟล์ OMF หรือ AAF ซึ่งจะเป็นเลเยอร์เสียงที่อีดิทเตอร์ทำเสร็จเรียบร้อยอยู่ในโปรแกรมตัดต่อภาพนั่นเอง ไฟล์ประเภทนี้จะช่วยให้เราทำงานกับภาพได้ง่ายขึ้น เพราะมันสามารถแนบข้อมูลทางเสียงอย่างเช่นการ Fade, การเขียน Automation ติดมาได้เลย นอกจากนั้นเรายังสามารถอีดิทเสียงจากไฟล์ประเภทนี้ได้ง่ายมาก ดีกว่าไฟล์เสียงที่ส่งมาเป็น WAV แยกแทรคตามปกติ ซึ่งก็ทำงานได้เหมือนกัน แต่อาจจะยุ่งยากกว่าเล็กน้อยครับ

นอกจากเรื่องเสียงแล้วเรายังต้องทำงานกับรายละเอียดของเรื่องภาพด้วย คุยกับทีมงานให้ดีว่า Frame Rate ของภาพเป็นเท่าไหร่ จะได้ตั้งค่าโปรเจ็คของเราให้ถูกต้อง ส่วนใหญ่งานทีวีบ้านเราจะอยู่ที่ 25 FPS กันเป็นหลัก ถ้าเป็นหนังใหญ่ก็จะอยู่ที่ 24 FPS หรือนอกเหนือจากนี้ก็มีเช่นกันในกรณีเป็นงานหนังต่างประเทศครับ

ตั้งค่าตรงนี้ให้ถูกต้องก่อนจะเริ่มทำงานล่ะ ไม่งั้นทำๆไปเสียงกับภาพค่อยๆหลุดซิงค์ออกจากกันไม่รู้ด้วยนะ ฮ่าๆ

5.Briefing : ขั้นตอนการรับบรีฟ แปลเป็นไทยง่ายๆก็คือการคุยรายละเอียดเรื่องของเสียงกับผู้กำกับหนังหรือลูกค้านั่นเอง (ฝรั่งจะใช้คำว่า Spotting) ทางผู้กำกับก็จะมาคุยกับเราว่าเค้าอยากได้เสียงแบบไหนในหนังบ้าง ทำให้เรามองเห็นและตีความหนังไปในทิศทางเดียวกันกับลูกค้า ถือว่าเป็นขั้นตอนนึงที่สำคัญมากครับ

6.Dialogue Editing : เสียงพูดของตัวละครเป็นส่วนสำคัญมากในหนัง (ยกเว้นพวกหนังเงียบอ่ะนะครับ) จึงต้องให้ความสำคัญกับการอีดิทเสียงให้ออกมาดีที่สุด โดยปกติเรามักจะได้รับไฟล์เสียงพูดของนักแสดงที่บันทึกมาจากไมค์โครโฟนสองตัวเป็นอย่างน้อย คือ ไมค์ lavalier (clip-on mic) และไมค์ boom (shotgun) ซึ่งเราก็ต้องมาตัดสินใจเลือกอีกทีว่าจะใช้เสียงจากไมค์ตัวไหนถึงจะลงตัวกับภาพหรือซีนนั้นๆมากที่สุด บางทีอาจจะใช้ทั้งสองไมค์เลยก็ได้ แต่ก็ต้องระวังเรื่อง Phase ด้วยนะครับ

อีกอย่างที่ต้องทำกันอย่างละเอียดก็คือการคลีนหรือกำจัดเสียง Noise ออกไปจากเสียงพูดครับ อย่างเช่นเสียงเครื่องปรับอากาศ หรือ Noise ที่เกิดจากระบบไฟ ไปจนถึงเสียงการจราจรที่เราไม่ต้องการ ปัจจุบันเรามีปลั๊กอินประเภทนี้ให้เลือกใช้กันเพียบ ใช้งานก็ไม่ยากด้วย เพียงแต่ต้องค่อยๆทำและตั้งใจฟังรายละเอียดเสียงดีๆ ไม่งั้นจะกลายเป็นว่า Noise หายไปก็จริงแต่เสียงพูดดันบี้แบนไปด้วยแบบนี้ก็ไม่ไหวนะคร้าบ

7.ADR : ในกรณีที่อัดเสียงพูดมาไม่ได้คุณภาพ จะนั่งคลีนเสียงยังไงก็เอาไม่อยู่ หรือบางครั้งระหว่างการถ่ายทำก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจบันทึกเสียงได้ดีพอ ฉะนั้นเราจะพึ่งขั้นตอนที่เรียกว่า ADR หรือ automated dialogue replacement แทนครับ โดยจะเรียกนักแสดงกลับเข้ามาที่สตูดิโอเพื่อบันทึกเสียงพูดในซีนนั้นๆใหม่

ความยากจะอยู่ที่การสวมบทบาทของนักแสดงให้ได้อารมณ์แบบเดิมกับตอนที่กำลังถ่ายทำ และจะเป็นความยากของ Sound Engineer เช่นกันในการตกแต่งเสียงพูดที่อัดมาใหม่ให้เหมือนกับอยู่ในสถานที่จริง ณ ซีนนั้นๆครับ

8.Sound Effect (SFX) : จะเป็นขั้นตอนการทำเสียงซาวด์เอฟเฟคประกอบเข้าไปในหนังครับ เรื่อง SFX นี่พูดกันได้อีกเป็นวันๆ เพราะมันประกอบไปด้วยเรื่องของ Sound Design, Foley, Ambience และอีกหลายอย่าง เอาเป็นว่าเดี๋ยวจะมาฝอยในเรื่องนี้กันอีกทีนะครับ

9.Music : โดยส่วนมากเราจะทำเพลงประกอบหนังขึ้นมาใหม่ โดยใช้ Composer หรือนักแต่งเพลงเข้ามาทำงานในส่วนนี้ แต่ในงานบางประเภทเราก็ต้องหาเพลงจากแหล่งอื่นมาวางในหนัง แทนที่จะใช้บริการจาก Composer ซึ่งก็สามารถหาซื้อกันได้ไม่ยากตามผู้ให้บริการ Royalty-Free Library Music ทั้งหลายครับ การวางเพลงประกอบหนังเป็นอีกศาสตร์ที่มีความซับซ้อนสูง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ากันของอารมณ์ ไปจนถึงเรื่องความซิงค์ของจังหวะเพลงกับภาพที่เกิดขึ้นในหนังด้วย

10.Mixing : เรียกกันแบบบ้านๆว่าขั้นตอนผสมเสียงครับ เมื่อเราอีดิทเสียงทุกอย่างเรียบร้อย วางเพลง วาง SFX ครบถ้วนก็ถึงเวลาผสมกวนทุกอย่างเข้าด้วยกัน ให้ออกมาเป็นเสียงประกอบหนังที่สมบูรณ์แบบสู่หูผู้ชม ในงานภาพยนตร์อาจจะต้องใช้บุคลากรในขั้นตอนนี้เยอะเนื่องจากความมหาศาลและซับซ้อนของแทรคเสียง แต่ถ้าเป็นงานประเภทอื่นแค่คนเดียวก็เหลือเฟือครับ

11.Mastering : ขั้นตอนการจัดทำไฟล์ที่ต้อง Export ออกมาให้ตรงกับจุดประสงค์การใช้งาน หรือตามสเปคที่ลูกค้ากำหนดมา ในขั้นตอนนี้ก็มีรายละเอียดเชิงเทคนิคเยอะมากอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเภทของไฟล์ และระดับความดังของเสียง เดี๋ยวเราค่อยมาว่ากันอีกรอบครับ

เอาล่ะครับทั้งหมดนี้ก็คือขั้นตอนของงาน Audio Post Production ฉบับเร่งรัด แฮ่กๆๆ นี่ขนาดพยายามรวบให้ย่อที่สุดแล้วนะเนี่ย แต่ก็ยังเหลือเรื่องให้เราโม้และลงรายละเอียดได้อีกเพียบ ไว้โอกาสหน้าจะหยิบแต่ละหัวข้อมาเขียนขยายความให้ได้อ่านกันเรื่อยๆนะคร้าบ ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านกันครับผม